หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ยางน่องเถา

ยางน่องเถา




ยางน่องเถา หรือยางน่องเครือ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Strophanthus caudatus) เป็นไม้พุ่มเลื้อย ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้ามกัน แผ่นใบหนา สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดที่โคน สีขาว กางดอกสีเหลืองอ่อน ปลายกลีบดอกแผ่แยกเป็น 5 กลีบ

ชื่อพื้นเมืองอื่น : เครืองน่อง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่ฮ่องสอน) ตะเกาะแบเวาะ (มลายู ภาคใต้) น่อง (ภาคกลาง นครราชสีมา) บานบุรีป่า (ภาคใต้) ยางน่องเครือ (อุบลราชธานี) ยางน่องเถา (จันทบุรี ปราจีนบุรี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ยางน่องเถา เป็นไม้พุ่มเลื้อย ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้ามกัน แผ่นใบหนา สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดที่โคน สีขาว กางดอกสีเหลืองอ่อน ปลายกลีบดอกแผ่แยกเป็น 5 กลีบ ปลายกลีบเป็นแถบแคบยาว สีแดงเข้ม ผลเป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอก ยาว 10-30 เซนติเมตร เมล็ดสีน้ำตาลมีกระจุกขนสีขาว

การกระจายพันธุ์
ในธรรมชาติสามารถค้นพบต้นยางน่องเถาได้ตามบริเวณขอบป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้นโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบจังหวัดนครพนม อุบลราชธานี นครราชสีมา ภาคตะวันออกและภาคใต้

ประโยชน์และโทษ
ประโยชน์ของยางน่องเถานั้นมีประโยชน์ในการทาลูกหน้าไม้ล่าสัตว์ซึ่งชาวบ้านใช้ยางจากยางน่องเถา ผสมกับยาพิษชนิดอื่น มีความเป็นพิษเช่นเดียวกับบานทน[3] แต่ก่อนรับประทานเนื้อสัตว์ให้เฉือนเอาเนื้อร้ายที่มีสีเขียวออกจนหมด จึงจะรับประทานเนื้อสัตว์นั้นได้[4] ยางน่องเถามีคาร์ดิแอก ไกลโคไซด์จึงทำให้เป็นพิษต่อหัวใจ

ยางน่อง เป็นต้นไม้ที่ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนทั่วไป มีทั้งอย่างชนิดยืนต้นและอย่างเถา ยางน่องต้น มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Antiaris toxicaria Lesch. อยู่ในวงศ์ Moraceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มาก อาจสูงได้ถึง 70 เมตร ลำต้นจะเป็นพูพอน แผ่ออกพื้นดินเพื่อยึดลำต้น เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ สีขาวหรือขาวอมเทา เปลือกชั้นในสีขาวหรือขาวอมเหลือง
ถ้าถากเปลือกดูจะมีน้ำยางสีขาวหรือขาวอมเหลืองซึมตามรอยถาก พิษของยางน่องจะอยู่ที่ยาง ยางจะมีสารไกลโคไซด์ (glycoside) ที่เป็นพิษต่อหัวใจ ชื่อแอนดิเอริน (antiarin) มีรสขมและมีฤทธิ์กัด มีผลต่อระบบประสาท และหัวใจทำให้หัวใจเต้นช้าลง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และหัวใจวายตาย
หมอโบราณทางภาคเหนือ กล่าวว่ายางที่ได้จากต้นยางน่องเป็นพิษ ใช้ชุบปลายลูกหน้าไม้ยิงสัตว์ใหญ่ได้ แต่ก่อนจะรับประทานเนื้อสัตว์นั้น ให้เฉือนเอาเนื้อร้ายที่มีสีเขียวอันเกิดจากพิษยางน่องให้หมดเสียก่อนจึงจะรับประทานได้

แม้ยางต้นน่องจะเป็นพิษแต่เนื้อไม้ที่มีสีขาว เป็นไม้ที่เสี้ยนตรง เนื้ออ่อน สามารถที่จะนำไปทำเป็นหีบใส่ของ รองเท้าไม้ เครื่องเล่นต่างๆได้ และสามารถใช้เมล็ดต้นยางน่องเป็นยาแก้ไข้ ส่วนเปลือกต้นยางน่อง ให้ใยละเอียดสีขาว ใช้ทำเชือก เยื่อกระดาษ ทุบทำเป็นที่นอน ผ้าห่มและเสื้อกางเกงของพวกชาวป่า เช่น แม้ว มูเซอ และเงาะ เป็นต้น ต้นยางน่องจึงเป็นต้นไม้ที่น่าอนุรักษ์ต้นหนึ่ง แม้เราจะไม่ใช้ยางน่องในการชุบหน้าไม้ยิงสัตว์อีกต่อไปแล้ว แต่ส่วนอื่นของต้นยางน่องก็มีคุณค่าน่าศึกษา

ยางน่องอีกต้นเป็นชนิดเครือ ชื่อยางน่องเครือ ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Strophanthus scandens Roem & Schult อยู่ในวงศ์ Apocynaceae เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีน้ำยางสีขาว ตามกิ่งอ่อนมีสีแดงเข้ม ส่วนที่เป็นพิษ คือ ยางจากต้น และเมล็ดมีสารไกลโคไซด์ (glycoside) ที่เป็นพิษต่อหัวใจ ชื่อ สโตรแฟนตินจี (Stophantin G), คอมบิคาซิต โคลีน (kombicacid choline), ไตรโกเนลลีน (trigonelline) ซึ่งทำให้หัวใจเต้นช้าลง เต้นไม่เป็นจังหวะและหัวใจวายตาย เช่นเดียวกับยางน่องต้น

ประสบการณ์ของหมอยาอิสานจะนิยมใช้ยางน่องเครือ พรานจะรู้ดีว่ายางน่องเครือต้นไหนมีพิษรุนแรง ต้นไหนมีพิษอ่อน ต้นที่มีพิษแรงจัดยอดจะออกเป็นสีแดงเข้มกว่า ยางจะออกเป็นสีขาวออกแดงเรื่อๆ วิธีการทำยางน่องเพื่อใช้ชุบลูกดอกเวลายิงสัตว์ เขาจะใช้กาบ(เปลือก) ยางน่องเครือใส่น้ำเคี่ยวให้เข้าๆกันจนเหนียวติดมือ เก็บใส่กระบอกไม้ไผ่ไว้ใช้

พรานบางคนต้องให้พิษยางน่องแรงขึ้น จะเพิ่มต้นยาสูบลงไปประมาณ 1 คืบ ถ้าไม่มีต้นเอาใบยาสูบที่แรงๆสักเล็กน้อย และเปลือกไม้ชนิดหนึ่งชื่อ ไม้ชีงวง ใช้หนึ่งคืบ สองอย่างนี้ไม่ต้องใช้มากเท่าเปลือกยางน่อง เป็นตัวเสริมฤทธิ์เท่านั้น และถ้ายางน่องในกระบอกที่เก็บไว้แห้งกรัง เขาจะเคี้ยวเปลือกไม้ชีงวงใส่แล้วเอายางน่องในกระบอกไปอุ่นไฟ ยางน่องในกระบอกจะมีพิษและใช้ได้เหมือนเดิม ถ้าหากเกิดพลาดพลั้ง เช่น ยิงถูกกันเอง หรือเผลอเอามือที่มีแผลไปสัมผัส ท่านให้รีบไปเคี้ยวผ้าดำ เคี้ยวๆแล้วกลืนน้ำลายกิน เพราะว่าผ้าดำจะเกิดจากการย้อมด้วยต้นครามและด่าง (ทำจากเผาไม้ในธรรมชาติ เช่น ด่างไม้ขี้เหล็ก) หรือให้กินปูนา จะกินปูนาดิบๆเพราะปิ้งไม่ทันหรือที่ปิ้งไว้แล้วก็ได้ หมอยาหลายท่านยืนยันว่าปูนาสามารถแก้พิษยางน่องได้ชะงัดจริง หากเป็นสมัยนี้ถ้าถูกพิษทั้งยางน่องต้นและยางน่องเครือเเข้าต้องวิ่งหา ผงถ่าน ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ ยาป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ (propanold) กันให้วุ่นวายไปหมด

แม้ยางน่องจะมีพิษ ห้ามสัมผัสถูกแผลเพราะอาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเป็นพิษถึงตายได้ แต่ถ้าเป็นแผลถูก งูกัด ไม่ว่าจะเป็นงูชนิดใด รวมทั้งตะขาบ แมลงป่อง สามารถใช้ยางน่องทาแผลรอยกัดเหล่านั้นเพื่อรักษาพิษจากงูและสัตว์พิษเหล่านั้นได้ เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่าใช้พิษแก้พิษ ภูมิปัญญาและประสบการณ์การใช้พรรณพืชของบ้านเรา หลายคนอาจมองเป็นเรื่องโม้หรือเรื่องเล่าไร้การทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องเล่าและประสบการณ์เหล่านี้แหละที่เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนายาสมัยใหม่
แม้เราไม่สามารถพัฒนายาใหม่จากต้นยางน่องได้ อย่างน้อยเรื่องราวของยางน่องก็เป็นอุทาหรณ์บอกกับเราว่า ยางน่องแม้จะเป็นพิษแต่ก็แก้พิษได้

ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา
http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_tox...asp?info_id=86

ถ้าโดนพิษจากยางน่องเครือให้ใช้เถาย่านางแดงหรือรากรางจืดฝนกับมะนาวกินและทา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น